ขาฉันหายไปไหน...ความทุกข์ทรมานใจที่รู้ว่า ตนต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญของร่างกายเมื่อลืมตาขึ้นหลังจากการถูกตัดขา หากสามารถกำหนดชีวิตได้คงไม่มีใครที่อยากเป็นคนพิการขาขาดหรือถูกตัดขา  เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะรับความจริงที่เกิดขึ้นได้  และสิ่งสำคัญที่สุดที่เปรียบเสมือนชีวิตใหม่ของพวกเขาเหล่านั้นนั่นก็คือ “ขาเทียม”

9582 1

ภาพ การใส่ขาเทียม
ที่มา https://pixabay.com/ , OpenClipart-Vectors

          ขาเทียม เป็นอุปกรณ์ที่สร้างความหวังและกำลังใจ ให้คนที่ไม่สามารถเดินได้ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง ขาเทียม (Prosthetic Leg) อุปกรณ์ที่มีกลไกและการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับการทำงานของขาตามธรรมชาติ สำหรับการทรงตัว เดิน และเคลื่อนไปในทิศทางต่าง ๆ  ซึ่งมีข้อดีต่อผู้ป่วยที่ต้องเสียขาไปจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ ปัจจุบัน ขาเทียมสามารถสร้างขึ้นมาได้จากวัสดุหลากหลายชนิด  ซึ่งการสร้างขาเทียมนี้ ก็เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตและทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองต่อไปได้

ปัจจุบัน การให้ผู้ป่วยใส่ขาเทียมเป็นแนวทางหนึ่งของการช่วยเหลือทางการแพทย์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อมูลดังต่อไปนี้

  • ระบบหมุนเวียนโลหิตสร้างความเจ็บปวด ผู้ป่วยที่ต้องรักษาโดยการตัดขาออกไป เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ เช่น การติดเชื้อรุนแรงจากแผลที่เท้าและขาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)

  • การบาดเจ็บที่ทำให้บริเวณขาเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือการออกรบในสงครามของเหล่าทหาร

  • ผู้ป่วยมะเร็งที่เซลล์มะเร็งลุกลามจนต้องตัดขา

  • ผู้ที่มีร่างกายพิการแต่กำเนิด

          ผู้ที่พิการขาสามารถใส่ขาเทียมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยปรับการเคลื่อนไหว การทรงตัว การทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ หลังการสูญเสียครั้งสำคัญ  หากมีความประสงค์ต้องการใส่ขาเทียม เบื้องต้นจะต้องขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ นักบำบัด และนักกายอุปกรณ์ตามสถานพยาบาลต่าง ๆ หรือสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่จัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการทำขาเทียม ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการและผู้ป่วยยากไร้ที่จำเป็นต้องใส่ขาเทียม

          สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้พิการ จากการบริจาควัสดุที่สามารถนำไปสร้างเป็นขาเทียมได้ ซึ่งก็สามารถติดต่อไปที่มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เช่นเดียวกัน

แหล่งที่มา

พบแพทย์.ขาเทียมกับเรื่องที่ควรรู้, สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2561. จาก https://www.pobpad.com/

น.ส. วรางคณา  สิงหชาญ. ขาเทียมไทย ความหวังใหม่ของผู้พิการในแอฟริกา.สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2561. จาก http://tica.thaigov.net/main/th/articles/1641/36905-ขาเทียมไทย-ความหวังใหม่ของผู้พิการในแอฟริกา.html

MGR Online. อึ้ง! ผู้ป่วยถูกตัดขาเพิ่มปีละ 3,500 ราย ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์เกือบ 2 หมื่นคน, สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2561. จาก https://mgronline.com/qol/detail/9560000116861